การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ
     บทนำ
กว่า  ๔๐  ปี    ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๗ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานหลักการพัฒนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์เป็นปรัชญาที่ชี้นำการดำรงอยู่และปฏิบัติตนอย่างพอเพียงของประชาชนไทยทุกระดับตั้งแต่ ระดับบุคคล ครอบครัว  ชุมชนประเทศชาติ
            เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี สติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งจะนำไปสู่ ความสุข ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
 “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)
        พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่พสกนิกรเกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโอกาสต่างๆ ท่านทรงตรัสด้วยพระองค์แห่งคุณธรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับสนับสนุนให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น ถูกต้องและ พอเหมาะพอควร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและสังคม  ดังในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗ “ประเทศไทยทำไมยังอยู่ได้ ก็เพราะพวกเราทุกคนสร้างความดี คือปฎิบัติในสิ่งที่สุจริต ด้วยความบริสุทธิ์ใจและตั้งใจดี อาจมีผิดพลาดบ้าง แต่ว่าไม่ตั้งใจผิดพลาด ตั้งใจทำดี...ฉะนั้น ทุกคนที่ทำหน้าที่ตามอาชีพของตนหรือตามหน้าที่ของตน อย่างเต็มที่อย่างเสียสละ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น ก็เป็นสิ่งสร้างเสริมความดีแก่ประเทศชาติ”

          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่ เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป 
ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          ประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
          พระราชดำริชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๔๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
  เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี 
โรงเรียนนายร้อยตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจ
        โรงเรียนนายร้อยตำรวจ  สถาบันระดับอุดมศึกษาเฉพาะทางที่ผลิตข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียกว่า "นักเรียนนายร้อยตำรวจ" (นรต.) ผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น "ว่าที่ร้อยตำรวจตรี" 
ภารกิจหลักของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ  คือ การให้การศึกษาอบรมทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และการอบรมหล่อหลอมคุณลักษณะความเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรให้แก่ผู้ที่เข้ารับการศึกษาอบรมในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งหลักสูตรหลักและเป็นหลักสูตรประจำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจคือ "หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ"
หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (การตำรวจ) มุ่งเน้นการศึกษาอบรมให้นักเรียนนายร้อยตำรวจมีวิชาความรู้และการอบรมหล่อหลอมคุณลักษณะอันดีใน 3 ด้าน คือ
1.มีความรู้ทางวิชาการพื้นฐานของระดับปริญญาตรี
2.มีความรู้ทางวิชาชีพ ที่เป็นความรู้เฉพาะในด้านตำรวจ
3.มีบุคลิกลักษณะและมีภาวะความเป็นผู้นำตำรวจ มีคุณลักษณะทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมจะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร และมีคุณธรรมจริยธรรม
สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีความทันสมัย มีความเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาโดยตลอด
 โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการเปิดหลักสูตรร่วมกัน เช่น ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
กิจกรรมเสริมหลักสูตรที่จัดขึ้นเพิ่มเติมจากฝ่ายวิชาการภาคทฤษฎี นับว่ามีความสำคัญอย่างมากและเน้นการสัมผัส เรียนรู้การดำเนินชีวิตจากประสบการณ์จริง  ที่เด่นๆมี หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกรับใช้ประชาชนในชนบท สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 2 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "หลักสูตรพ่อแม่สมมติ" ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนกันยายน
          หลักสูตรพ่อแม่สมมตินี้ ทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ส่งตัว นรต.ชั้นปีที่ ๒  ไปช่วยเหลือและรับใช้งานของผู้ปกครองสมมติตามบ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดนครปฐม หรือจังหวัดใกล้เคียง จะให้ นรต.ทุกคนสวมวิญญาณของความเป็นลูกเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของเขา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ นรต.ได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่กับประชาชนตามชนบท และให้ได้เรียนรู้เรื่องการวางตัว การมีปฏิสัมพันธ์และการสร้างความใกล้ชิดกับประชาชนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยศึกษา นอกจากนี้ตามบ้านที่ นรต.ไปอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ ก็จะประกอบอาชีพต่างๆ กัน มีทั้งการทำเกษตรกรรม และประกอบอุตสาหกรรมครัวเรือน ซึ่งการที่ นรต.ได้เข้าไปช่วยเหลืองานเหล่านั้นจะทำให้เกิดความรู้ด้านการประกอบอาชีพติดตัวกลับมาด้วยในระยะเวลา 15 วัน ที่ทุกคนไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวสมมติ   เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกการทำงานร่วมกับชาวบ้าน ปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกเพื่อผดุงความเป็นธรรม ในกลุ่มประชาชนผู้ยากไร้และไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชน ได้สัมผัสกับสภาพชีวิตและปัญหาของสังคมแบบชนบท เกิดจิตสำนึกที่จะบริการรับใช้ประชาชน และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นด้วย 
       อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือเป็นหลักสูตรการฝึกที่ดี ที่จะให้ นรต.ได้เรียนรู้เรื่องความเป็นตำรวจติดดิน เนื่องจากมีบางคนไม่เคยใช้ชีวิตเช่นนี้ ก่อนที่จะเข้ามารับการศึกษาอาจจะยังไม่เคยนอนกลางดินกินกลางทราย ไม่เคยพบกับความยากลำบากมาก่อน แต่เมื่อมีโครงการนี้บรรจุเข้ามาในหลักสูตรก็จะทำให้ นรต.ทุกคนได้รู้จักกับชีวิตติดดินมากขึ้น 
นับว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เล็งเห็นความสำคัญในการปลูกฝัง จิตสำนึกที่ดีงามรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน ตอบแทนคุณของแผ่นดิน เป็นการส่งเสริมโครงการพ่อแม่สมมติ
นักเรียนนายร้อยตำรวจกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าใจถึงสภาพสังคมไทย ดังนั้น เมื่อได้พระราชทานแนวพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทในด้านต่างๆ จะทรงคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติได้ 
แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
๑. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
๒. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
๔. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูน     ขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
๕. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัชกาลที่ ๙ ทรงให้ไว้กับชาวไทย แม้พระองค์จะเน้นที่ภาคเกษตรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ควรสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเสียก่อน แต่หลักเศรษฐกิจพอเพียงยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้กับคนในทุกสาขาอาชีพไปปรับใช้ได้เช่นกัน เพราะถ้าเข้าใจหลักการจะพบว่าท่านเน้นให้พึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ
หลักการที่นักเรียนนายร้อยตำรวจ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติ ไร่เรียงตามหลักการ ๓ ห่วง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตนเอง พิจารณาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงกับการวางแผนการเงิน ได้ดังนี้
๑.  ความพอประมาณ
คือ การดำรงชีวิตที่พอเหมาะ มีความพอประมาณทั้งการหารายได้และพอประมาณในการใช้จ่าย
การพอประมาณในการหารายได้ คือ ทำงานหารายได้ด้วยช่องทางสุจริต ทำงานให้เต็มความสามารถ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ส่วนการพอประมาณในการใช้จ่าย คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัดตามรายได้ที่เรามี ตามฐานะความเป็นอยู่ อย่าใช้จ่ายเกินตัว  ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อย่าเป็นหนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้จ่ายในการดูแลตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม ไม่อยู่อย่างลำบากหรือฝืดเคืองจนเกินไป ควรอยู่บนหลักการของความสมดุล  แต่ถ้ามีรายจ่ายมาก ก็ควรหารายได้เพิ่มด้วย ที่สำคัญคือ อย่าเบียดเบียนผู้อื่น เช่น หยิบยืม กู้หนี้ยืมสิน แต่ไม่สามารถใช้หนี้นั้นได้ นับเป็นการสร้างภาระให้กับตนเองและผู้อื่น อาจเกิดปัญหาหนี้นอกระบบ การทวงหนี้ที่ต้องเดือดร้อนไปถึงครอบครัว คนรอบข้างหรือกระทบต่อหน้าที่การงาน ในการปฏิบัติงานจริงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับนักรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษาไป เช่น ค่าตัดเครื่องแบบข้าราชการเพื่อปฏิบัติงาน ค่าซื้อคอมพิวเตอร์โน็ตบุ๊คเพื่อใช้ในการทำงาน  ค่าซื้อปืนเพื่อเป็นอาวุธประจำกาย แม้หน่วยงานาจะมีปืนของทางราชการให้ยืมใช้ แต่อาจจะด้วยเหตุผลในเรื่องจำนวน หรือคุณภาพ อาจเป็นปัจจัยที่ผู้ปฏิบัติงานประสงค์มีปืนซึ่งเป็นอาวุธประจำกายที่เหมาะกับตนเอง ในบางคนอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าที่พักอาศัยเพิ่มอีก
๒.ความมีเหตุผล
 คือ หลักการใช้จ่ายนั้น มีหลักเหตุและผลเพียงพอเพียงใด  ควรมีการตัดสินใจที่ดี มีความรอบคอบตั้งอยู่บนการไตร่ตรองถึงเหตุ รวมถึงคำนึงถึงผลที่อาจจะตามมาจากการตัดสินใจ ไม่ตัดสินใจใช้จ่ายตามอารมณ์ ควรพิจารณาการใช้จ่ายตามหลักการความต้องการ หรือหลักการของความจำเป็น การใช้จ่ายมิได้บังคับว่าไม่ควรใช้จ่ายอะไรเลย แต่สรุปง่ายๆคือ ถ้ามีเหตุผลอยากใช้เงินซื้ออะไร ก็ควรหารายได้ให้มากพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ควรบริหารเงินไม่ให้ติดลบนั่นเอง
๓.มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่หรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีความแน่นอน ตายตัว หลักการคือ ความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และหลักการพึ่งพาตนเอง ในเรื่องของการบริหารเงิน คือ การใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น รถ บ้าน เราบริหารการใช้จ่ายอย่างไร  การผ่อนชำระมีความแน่นอนชัดเจน ไม่เกินกำลังการผ่อนชำระ การออมเงินไว้ฉุกเฉินมีเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายสำหรับตนเองและคนในครอบครัวหรือไม่ กับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้การนำเงินส่วนหนึ่งแบ่งเพื่อการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และเป็นหลักประกันในอนาคตเมื่อยามเกษียณนับเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรวางแผนไว้
     สำหรับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของ ๒ เงื่อนไขนั้น ในเรื่องการมีความรู้และการมีคุณธรรม นักเรียนนายร้อยตำรวจ ปฏิบัติในเงื่อนไขทั้ง ๒ ได้  ดังนี้
               ๑ .มีความรู้
มีความรู้ในงานที่ทำ มีความเป็นมืออาชีพในงานที่ปฏิบัติ ตั้งใจ เต็มใจ นอกจากนี้ยังควรขวนขวายใฝ่รู้รอบด้าน ความรู้ในเรื่องกาจัดการทางด้านการเงิน มีความรู้ในการหารายได้เพิ่มขึ้นด้วย
 ๒.มีคุณธรรม
                  การไม่โกง ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความ อดทน ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
              สรุป
              นับว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเส้นทางสู่การแก้ปัญหา ที่คนในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์  การส่งเสริมในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เสริมสร้างให้เห็นคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ปฎิบัตินำไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เป็นการสร้างความก้าวหน้าอย่างสมดุล และยั่งยืน
                นักเรียนนายร้อยตำรวจ ควรจะมีความพอเพียง คือ มีความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบใดๆอันจะเกิดขึ้นทั้งจากภายใน และสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำหลักวิชาชีพตำรวจที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการปฏิบัติงาน และที่สำคัญที่สุดที่ควรกระทำควบคู่กัน คือ การเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจ ให้มีความสำนึกในคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง ดำเนินชีวิตตามอุดมคติตำรวจ โดยเฉพาะในเรื่องความเพียรอดทน และการมีสติปัญญา พิจารณาการกระทำของตนให้รอบคอบ ระมัดระวังอยู่เสมอในทุกการกระทำด้วยความมีสติ  หลักการทั้งสองประการเป็นไปตามหลักสองเงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้